นับตั้งแต่เริ่มต้นแคมเปญเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา Mirror 50 : To Celebrate 50 Empowering Ones ก็ได้ดำเนินมาถึงโค้งสุดท้าย และในวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เราก็ได้ชวนให้ผู้เข้าร่วมแคมเปญจากทั้ง 50 รายชื่อ รวมถึงบุคคลผู้ทรงพลังในหลายๆ วงการ มาเฉลิมฉลองร่วมกัน พร้อมทั้งพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยน เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้ของคนที่กำลังผลักดันในด้านต่างๆ ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น สามารถส่งต่อพลังให้หลากหลายจุดยืนได้ถูกมองเห็นมากยิ่งขึ้น

ภายในตัวงานที่เกิดขึ้น มีพื้นที่จัดแสดงภาพถ่าย รวมทั้งเวทีให้ร่วมรับฟังเรื่องราวของ 50 รายชื่อ จาก 6 หมวดหมู่ ได้แก่ CHANGER, ARTIST, INFLUENCER, ENTREPRENEUR, RISING STAR และ BRAND ทั้งยังมีงานเฉลิมฉลองบนเรือ CHAOPHRAYA CRUISE และโอกาสนี้ เราก็ได้ชวนผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ มาพูดคุยกันสักเล็กน้อย ซึ่งเรื่องราวที่แต่ละคนบอกเล่าก็ล้วนแต่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

“กรุณา บัวคำศรี Stands for Humanity เพราะว่าเราทำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้ง และประเด็นเรื่องความเท่าเทียมในอาชีพข่าวมาประมาณ 20 ปี สำหรับเพื่อนหญิงพลังหญิง คิดว่าเวลาเราต้องทำงานภายใต้สภาวะกดดัน ประเด็นที่มันอาจจะยากต่อการทำความเข้าใจ และต้องใช้เวลาในการต่อสู้เพื่ออธิบายต่อสังคม การที่เรามีคนที่เราแชร์ประสบการณ์หรือเข้าใจว่าเราต่อสู้เพื่ออะไร มันเป็นเรื่องที่ดีมาก และมันก็ยังมีบาง area ที่ผู้หญิงไม่สามารถไปได้เท่าผู้ชาย เพราะฉะนั้น การที่ผู้หญิงมีเพื่อนที่แชร์อุดมการณ์ แชร์ความคิด หรือแชร์จุดยืนร่วมกัน เป็นเรื่องที่ empower หรือทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้นค่ะ”

กรุณา บัวคำศรี ผู้ประกาศข่าวรายการ ‘รอบโลก DAILY’ และเจ้าของช่องยูทูบ ‘รอบโลก by กรุณาบัวคำศรี’ บอกกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์เพื่อนหญิงทรงพลังครั้งนี้

“นิยามเพื่อนหญิงพลังหญิงของแอน คือการที่เราได้รวมตัวมาสู้ในสิ่งที่เราเชื่อ สู้อยู่บนโลกที่ go against the grain ในโลกที่แอนรู้สึกว่ามัน male dominance สุดๆ เราเลยต้องไม่แข่งกัน แต่ต้องจูงมือและไปด้วยกัน”

นี่คือคำนิยามของเพื่อนหญิงทรงพลังที่ แอนชิลี สก็อต-เคมมิส คือมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2021 ที่ Stands for Real Size Beauty เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ซึ่งอยากให้ผู้หญิงหันมาเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

“50 จุดยืน ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย เพราะประชากรในประเทศไทยเยอะมาก แต่ดีกว่าไม่มี 50 เสียง 50 คนนี้ อย่างน้อยก็เป็นกระบอกเสียงในเรื่องต่างๆ ของสังคมไทยได้ อย่างตัวกะทิ Stands for Ordinary People อยู่เคียงข้างกับคนที่ประสบความสำเร็จช้า หรือยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ต้องรีบค่ะ ใช้ชีวิตไปก่อน และกะทิก็เชื่อว่า คำว่าเพื่อนหญิงพลังหญิง ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงก็ได้ แต่จะเป็นใครก็ได้ที่อยู่เคียงข้างผู้หญิง”

กะทิ-กะทิยา ขันทอง อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์แห่งเพจ ‘แกง’ และผู้จัดการเพจท่องเที่ยวให้กับยูทูบเบอร์ (หิ้วหวี) ทั้งยังเป็นผู้เข้าประกวดเวทีนางงาม บอกเล่ากับเราถึงอีกหลากหลายจุดยืนที่ยังต้องการการมองเห็นมากยิ่งขึ้น

“เราจะต้องต่อสู้ยืนยันสิทธิ์เพื่อแม่และลูก เพื่อสร้างสังคมให้กับลูก สังคมที่ไม่ยึดติดกับเพศ สังคมที่เป็นเพศหลากหลาย เพื่อรองรับเขาไม่ว่าเขาจะเติบโตเป็นเพศอะไรก็ตาม เพื่อนหญิงพลังหญิงในมุมมองของแจมจึงหมายถึงการที่ผู้หญิงเรามารวมตัวกันเพื่อทำสิ่งอะไรที่มันยิ่งใหญ่ในสังคม ถ้าร่วมมือร่วมใจกัน มันจะเกิดพลังมหาศาลได้ เช่น ถ้ามีสัดส่วนผู้หญิงในสภาฯ มีมากขึ้น เราก็จะสามารถผลักดันประเด็นที่มันละเอียดอ่อน ที่เพศอื่นอาจจะไม่เข้าใจเท่าไหร่นัก เช่น ประเด็นเกี่ยวกับแม่และเด็ก เราต้องการสส.ผู้หญิงจำนวนมาก หรือสส.ผู้ชายที่มีความเข้าใจทางเพศ หรือสส.เพศหลากหลาย ที่เข้าใจเรื่องสิทธิของแม่หรือสิทธิของเด็กค่ะ”

.

ทนายแจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ผู้ Stands for Moms and Kids เธอเชื่อว่าการรวมตัว กล่าวถึงประเด็นที่เธอกำลังผลักดันในเชิงนโยบาย

“ทุกคนในโปรเจกต์ Mirror 50 มีแพสชัน ทุกคนมีความรู้เยอะมากๆ ในสิ่งที่ตัวเอง Stands for ก็เลยได้ความรู้ใหม่ๆ จากคนที่มาร่วมงานนี้ด้วย ซึ่งอิ๊งว่ามันก็เชื่อมโยงกับการเข้าถึงข้อมูล ถ้าทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลมันจะดีมากๆ เพราะการมีข้อมูลมากขึ้นมันทำให้เรามีภูมิคุ้มกันในการเปิดรับสื่อ ทำให้เราเป็นคนที่ฉลาดขึ้น การเข้าถึงข้อมูลเลยควรจะเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเงินเยอะ หรือคนเงินน้อยก็ตาม”

.

อิ๊ง-ชยธร กิติยาดิศัย หรือ Ingck จากรายการยอดนิยมอย่าง ‘พลิกหลังกล่อง’ ผู้บุกเบิกการรีวิวสกินแคร์จากมุมมองส่วนผสมเป็นคนแรกๆ ในประเทศไทย บอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

“เราดีใจที่ได้มาอยู่ในโปรเจกต์นี้ เพราะประเด็นของเราถูกมองเห็น เป็นหนึ่งใน 50 ประเด็นที่สำคัญของสังคมนี้ และเรามองว่าพื้นที่นี้จะทำให้ประเด็นของคนที่เคยทำแท้งถูกส่งออกไปยังสังคมภายนอกมากขึ้น”

.

ตุ๊กตา-นิศารัตน์ จงวิศาล หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของ ‘กลุ่มทำทาง’ ที่ต่อสู้เรื่องการทำแท้งปลอดภัยในไทยมาตลอดหลายปี และสำหรับเธอแล้วการที่ประเด็นทำแท้ง ‘ถูกมองเห็นมากขึ้น’ คือเรื่องที่ควรจะต้องทำต่อไป และจะไม่ได้จบลงแค่ในโปรเจกต์นี้อย่างแน่นอน

“เรา Stands for Better Mental Health Ecosystem เพราะเรื่องสุขภาพจิตปัจจุบันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การที่เราดูแลสุขภาพกายกันแล้ว สุขภาพใจก็สำคัญมาก และเป็นเรื่องที่ควรได้รับการพูดถึง เราอยากให้การเข้าถึงการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนจริงๆ”

.

ทพญ. กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือ อิ๊ก คือผู้ก่อตั้ง Ooca แอปพลิเคชันคุยกับจิตแพทย์ทางออนไลน์ ที่ทำให้การพบจิตแพทย์เป็นเรื่องง่ายดายขึ้น และเธอย้ำว่าว่า ‘ทุกคน’ ควรได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

“บุญรอดยืนหยัดเพื่อคนพิการ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คนพิการก็คือคนเหมือนกัน บุญรอดก็หวังว่าในอนาคตสังคมจะเข้าใจคนพิการมากขึ้นค่ะ”

บุญรอด อารีย์วงษ์ จากช่อง Poocao Channel ได้มาร่วมงานในครั้งนี้และบอกเล่าถึงจุดยืนของเขาเช่นกัน

“ภูเขา Stands for ปลาหมึกแถวล่าง คำว่าปลาหมึกถูกเอามาใช้พูดเชิงขำๆ ในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ว่า ถ้าเป็นแถวบนจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่แถวล่างจะอยู่นอก beauty standard ซึ่งเรารู้สึกว่ามีคนเจ็บปวดกับสิ่งนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ว่าจะแถวบน แถวล่าง ทุกคนควรได้เป็นตัวเองอย่างมีความสุข และไม่ควรมากดทับกันเพียงเพราะความสาว ความแมน อ้วน หุ่นไม่ดี ไม่เนียนนี ถ้าเราตั้งใจจะส่งเสียงเพื่อความเท่าเทียมแล้ว คนใน LGBTQ+ เองก็ควรโอบรับความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ก่อน”

ภูเขา-พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ จากช่อง Poocao Channel ได้มาเข้าร่วมงานและยืนยันในจุดยืนของตัวเองเช่นกัน

“พลอยชมพู Stands for Yourself ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมไหน โดยเฉพาะการเป็นศิลปิน เราต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง เพราะว่าในหลายครั้ง เราไม่สามารถฝากอนาคตไปกับคนอื่นได้ เราต้องเป็นคนที่นำทางตัวเองไปในเส้นทางที่เราจะไป ถ้าเราไม่ตัดสินใจให้ตัวเอง คนอื่นจะมาตัดสินใจแทนเรา เราจึงต้องมีความเชื่อในตัวเอง เพราะความเชื่อ หรือความมั่นใจว่าเราจะทำมันได้ มันเป็น 50% ของความสำเร็จแล้ว”

พลอยชมพู-ญานนีน ภารวี ไวเกล ศิลปินหญิงมากฝีมือ อยากส่งต่อจุดยืนในการเชียร์ให้ทุกคนหันมามั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และอยากทำ

“สิ่งหนึ่งที่มารีญาทำความเข้าใจ และ Stands for คือ Freedom เพราะว่ามันไม่ใช่อิสรภาพแค่กับตัวเอง หรือของคนอื่น แต่มันรวมถึงอิสรภาพของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ เราไม่ควรไปทับถมอิสรภาพของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เมื่อเราอยากจะมีอิสรภาพของตัวเอง ก็ไม่ควรไปเบียดเบียนทุกสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมของเรา”

มารีญา พูลเลิศลาภ นักแสดงและนักขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ได้บอกกล่าวถึงจุดยืนของตัวเองเช่นกัน

Mirror 50 อาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทันที หรือปรับมุมมองของทุกคนให้ ‘เข้าใจ’ จุดยืนต่างๆ ได้ในทีเดียว แต่เราก็เชื่อว่า ความตั้งใจเล็กๆ เหล่านี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมได้หันมาเริ่มเปิดใจรับฟังจุดยืนของแต่ละคนไม่มากก็น้อย ซึ่งเมื่อเกิดการรับฟังแล้ว ก็ย่อมเป็นการเปิดประตูสู่ความเปลี่ยนแปลง และสร้างความรับรู้ใหม่ๆ ให้สังคมของเราเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแน่นอน

ท้ายที่สุด จุดยืนของผู้คน ไม่ได้มีแค่ 50 จุดยืนเหล่านี้เป็นแน่ที่ควรถูกมองเห็น แต่ยังมีอีกหลายร้อย หลายพันจุดยืนของทุกคนทั่วโลก ที่ล้วนแต่มีความสำคัญ มีความหมาย และควรถูกรับฟังไม่ต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าแม้โปรเจกต์นี้จะจบลง แต่ Mirror จะยังคงยืนยันในการสื่อสารประเด็นต่างๆ เหล่านี้ในสังคมเรา ให้ ‘ถูกมองเห็น’ ต่อไป

###

หมายเหตุ: นิทรรศการภาพถ่ายและเรื่องราวของทั้ง 50 รายชื่อในโปรเจกต์ Mirror 50 จะจัดแสดงที่บริเวณชั้น 1 ของ RIVER CITY BANGKOK จนถึงวันที่ 30 มกราคมนี้

ย้อนอ่านเรื่องราวของทั้ง 50 รายชื่อได้ที่ https://mirrorthailand.com/movinon/movement/101283