จากรายงานล่าสุดของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จำนวนผู้ลี้ภัย และพลัดถิ่นเพิ่มสูงขึ้นถึง 114 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมสูงที่สุดในรอบทศวรรษ โดยกว่าครึ่งคือผู้หญิง และเด็กผู้หญิง ในช่วงเวลาแห่งการลี้ภัยและพลัดถิ่น ผู้หญิงและเด็กเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง UNHCR ประเทศไทยจึงจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก ตั้งแต่พ.ศ. 2565 ร่วมกับสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกองทุนฯ รวมถึงสื่อพันธมิตร ผลักดันขยายเครือข่ายแห่งการแบ่งปันจากผู้หญิงในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้ของคนในสังคม ส่งพลังจากผู้หญิงถึงผู้หญิงด้วยกัน โดยเฉพาะการส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่ผู้ลี้ภัยหญิง
“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กองทุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิง สามารถส่งต่อความช่วยเหลือจากผู้หญิงแนวหน้าของเมืองไทยไปช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยหญิงชาวซีเรีย และครอบครัวได้กว่า 500 คน ผ่านโครงการมอบเงินช่วยเหลือของ UNHCR ในประเทศจอร์แดน” คุณอีฟเลียน แวนเดอเว่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครอง UNHCR ประเทศไทย กล่าว “ในปีนี้ เราตั้งใจขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมผู้หญิงลี้ภัยทั่วโลก ทั้งในด้านการจัดหาอาหาร ค่าเช่าบ้าน อุปกรณ์เพื่อสุขอนามัย ค่ารักษาพยาบาล และการศึกษาของลูก เป็นต้น
เนื่องในวันสตรีสากลที่ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี UNHCR ร่วมกับสมาคมฟินเทค ประเทศไทย จัดเสวนาพิเศษ “เทคโนโลยีและมนุษยธรรม เพื่อผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก”
เชิญผู้หญิงแถวหน้าจากหลายวงการ ร่วมพูดคุยถึงบทบาทของผู้หญิงรุ่นใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน รวมถึงความสำคัญในการลงทุนสนับสนุนผู้หญิง และแรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นต่อไป
“สมาคมฟินเทคประเทศไทย ต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้ฟินเทคพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินอย่างยั่งยืน
ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ” คุณชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทยกล่าว “การใช้ฟินเทคเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้ผู้ลี้ภัยได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินถือเป็นการให้ที่เคารพศักดิ์ศรี และแก้ปัญหาในระยะยาว”
กองทุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก ได้รับความสนใจจากผู้หญิงรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน จากหลากหลายวงการในประเทศไทย รวมถึงผู้หญิงที่มีบทบาทดูแลครอบครัว ซึ่งทุกท่านล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยขับเคลื่อนสังคมผ่านช่องทางการรับรู้ต่างๆ สนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้ต่อสังคม ทำให้เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าผู้หญิงทุกคนมีความสามารถและศักดิ์ศรีที่จะยืนหยัดได้ด้วยความสามารถของตนเอง พร้อมกับเป็นผู้นำที่จะส่งต่อพลังและความช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้เช่นกัน
“ริต้าเข้าใจถึงความรู้สึกของคนเป็นแม่ ว่าจะทำทุกอย่างเพื่ออนาคตที่ดีของลูก” คุณศรีริต้า เจนเซ่น ณรงค์เดช นักแสดง นางแบบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ กองทุนเพื่อผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก กล่าว “การได้รับรู้เรื่องราวของคุณแม่ที่ต้องลี้ภัยจากสงคราม หลายคนต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้ริต้าตั้งใจช่วยเหลือผู้หญิงลี้ภัย เพราะการช่วยเหลือผู้หญิงหนึ่งคนเท่ากับเราช่วยได้ทั้งครอบครัว”
การสื่อสาร และสร้างการรับรู้ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ ในงานนี้ TikTok ร่วมกับ UNHCR เปิดตัว donation sticker บนแพลตฟอร์ม TikTok เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มใช้งานได้แล้ววันนี้ “ในฐานะแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการแสดงออกที่หลากหลายเพื่อขับเคลื่อนสังคมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เราเชื่อว่า TikTok สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือเรื่องของผู้ลี้ภัยได้” คุณชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ติ๊กต๊อก (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว “นอกจาก donation sticker ที่ช่วยระดมทุนให้ UNHCR แล้ว เรายินดีสร้างสรรค์เนื้อหาร่วมกับครีเอเตอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ในการสนับสนุนผู้ลี้ภัยหญิงต่อไป”
ความร่วมมือจากบริษัทและภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการมอบชีวิตใหม่ให้ผู้ลี้ภัยหญิงทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหญิงผ่านบทบาทการทำงานของท่าน ได้ในทุกรูปแบบ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราผ่าน “ กองทุนผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก” ได้ที่ www.unhcr.org/th/leading-women-fund
UNHCR ขอขอบคุณ เอสซีบีเอ็กซ์ เน็ค เท็คและสยามพารากอน สนับสนุนสถานที่การจัดงานในครั้งนี้, SEEFAH Catering สนับสนุน snack box ตลอดงาน, LDA Official สนับสนุนผู้ดำเนินรายการ และต้นไม้ดิจิทัล (Tree of Opportunity) ของ Carenation และ ลูลู่ เทคโนโลยี ต้นไม้ที่จะช่วยมอบโอกาสช่วยผู้ลี้ภัยหญิงทั่วโลก โดยจะเข้ามาเป็น Partner กับ UNHCR ตลอดทั้งปี