เตือนสาว ๆ อย่าคิดว่าอาการปวดท้องน้อย ปวดท้องมากเมื่อมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ
หยุด!! ทน รอให้หายเอง ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงยุคใหม่ต้องดูแลตัวเอง เช็กด่วนร่างกายคุณอาจกำลังส่งสัญญาณเตือนเสี่ยง! เป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
แพทย์หญิงสาวิตรี สุวิกรม หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ให้ความรู้ในงานเสวนาสุขภาพ “Healthy Up! Talk” ในหัวข้อ “ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่านกับ โรคช็อกโกแลตซีสต์” โดยมี แพทย์หญิงปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งงานเสาวนาจัดขึ้นภายในงานเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ “Healthy Up! Run 2024” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
รู้จักโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือช็อกโกแลตซีสต์
สาเหตุของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดจากภาวะประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้อง ซึ่งประจำเดือนเหล่านี้มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก’ อยู่ด้วย เมื่อไปเกาะอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งก็อาจเจริญเติบโต เกิดเป็นพังผืด อาทิ สะสมอยู่ในรังไข่จนเกิดเป็นก้อนสีดำคล้ำ คล้ายช็อกโกแลต จึงมักเรียกกันว่า ‘ถุงน้ำช็อกโกแลต’ หรือ ‘ช็อกโกแลตซีสต์’
ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรสังเกตอาการตัวเอง
สัญญาณเตือนภัยของโรคที่ผู้หญิงควรสังเกตตนเอง ได้แก่ 1) ปวดท้องประจำเดือนที่มากกว่าปกติ มีอาการปวดขณะมีประจำเดือนและปวดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน และอาจรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบเดือนถัด ๆ ไป 2) ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยจะมีอาการเจ็บลึก ๆ ระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ 3) ปวดอุ้งเชิงกราน โดยมีอาการปวดขณะไม่มีประจำเดือน และมีอาการปวดเรื้อรังผิดปกติ 4) ประสบภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ไม่สามารถมีบุตรเองได้โดยวิธีธรรมชาติ
อาการปวดท้องประจำเดือนนับเป็นหนึ่งความทุกข์ของผู้หญิงไม่เพียงทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง แต่ยังกระทบต่อหน้าที่การทำงาน หรือการเรียน แม้กระทั่งพลาดโอกาสที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการได้
ดังนั้น หากพบอาการเหล่านี้ ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และไม่ต้องกังวลกับการตรวจ เพราะการวินิจฉัยโรคช็อกโกแลตซีสต์ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การซักประวัติ รวมไปถึงการตรวจร่างกายและการตรวจภายใน หรือการทำอัลตราซาวด์มาประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อประเมินขนาดและตำแหน่งของโรค
วิธีการรักษา
สิ่งสำคัญคือการได้รับการวินิจฉัยที่เร็ว ก็จะได้รับการรักษาที่เร็วไปด้วย ซึ่งแนวทางการรักษาโรคช็อกโกแลตซีสต์ในปัจจุบันหลัก ๆ การรักษามีอยู่ 3 แนวทางได้แก่ 1) การรักษาด้วยยา 2) การรักษาด้วยการผ่าตัด และ 3) การรักษาร่วมกันระหว่างการให้ยาและการผ่าตัด
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโรค ทั้งนี้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นแพทย์จะเป็นผู้วางแผนการักษาเพื่อช่วยป้องกันการเกิดการกลับเป็นซ้ำของโรคได้ในระยะยาว