กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“หลักสูตรการยุติความรุนแรง ลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ” พิธีนี้เป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของความคิดริเริ่มที่ก้าวล้ำที่มุ่งยุติความรุนแรงและลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติตามอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน และเอกอัครราชทูตโรเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย พร้อมแขกผู้มีเกียรติจากสหประชาชาติ นายเรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนประจําโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีอย่างสุดซึ้งในโอกาสนี้
การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมที่ครอบคลุมในหัวข้อ “หลักสูตรการยุติความรุนแรง ลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ” เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตสหรัฐฯ ผ่านทาง the U.S. President’s Emergency Plan for AIDS Relief (PEPFAR) ผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) เพื่อกระจายแหล่งเงินทุนโดยดําเนินการตามแผนความยั่งยืนด้วยการพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (วิสาหกิจเพื่อสังคม) การจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากสํานักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) วัตถุประสงค์หลักของหลักสูตร คือ การเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนโดยเฉพาะชุมชน LGBTQI+ โดยการส่งเสริมความเข้าใจและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ หลักสูตรการฝึกอบรมนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเริ่มต้นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมทางเพศในหมู่เยาวชนและสังคมโดยรวม ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาผู้นําที่สามารถให้ความช่วยเหลือและป้องกันผู้ที่เผชิญกับความรุนแรง การตีตรา การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในชุมชนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ USAID มุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อให้สามารถขยายโปรแกรมให้ครอบคลุมภาคเอกชนและภาครัฐต่างๆ เพื่อตอกย้ำความสามารถในการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนต่อชุมชน
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “หลักสูตรการยุติความรุนแรง ลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ” จัดทำขึ้นเพื่อนำหลักสูตรที่ได้มาพัฒนาร่วมกันในการนำไปใช้สร้างความเข้าใจในความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสังคม โดยมีความร่วมมือสำคัญดังนี้ 1) ร่วมกันสนับสนุนและร่วมมือประชาสัมพันธ์หลักสูตรฯ เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสังคม 2) ร่วมกันสนับสนุนและจัดฝึกอบรมหลักสูตรฯ ภายใต้ความร่วมมือของภาคีทุกฝ่าย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ชาย หญิง หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนข้ามเพศ คนรักทั้งสองเพศ คนที่มีทั้งสองเพศ และบุคคลที่ไม่นิยามตนในระบบทวิเพศ รวมถึงกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และผู้ใช้สารเสพติด ซึ่งประกอบไปด้วย องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคมและชุมชน โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง 3) ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงหลักสูตรฯให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด มีความทันสมัย โดยเน้นผู้เข้าร่วมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ความรู้และทักษะที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึง การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรฯ และกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับเพื่อยุติความรุนแรงลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ และ 4) ร่วมกันติดตาม ประเมิน และรายงานผลของการพัฒนาหลักสูตรฯ เพื่อผลักดันให้มีการทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องให้มีการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้มีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว เป็นกระบวนการในการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับทุก ๆ บริบท และองค์กร ซึ่งจะช่วยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ให้หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป มีความคิดที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ ตระหนักรู้และยอมรับการดำรงอยู่และสิทธิของบุคคลเพศอื่น ๆ นอกเหนือจากชายและหญิง ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ความเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราสร้างพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ การสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่รับรู้ความแตกต่างเพศและสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและสร้างสรรค์ได้แก่ทุกคนในสังคม
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่อุทิศตนรับใช้มา 25 ปี ให้ความสําคัญอย่างยิ่งกับการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน สมาคมมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพึ่งพาตนเองและยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนจากทุกสาขาอาชีพเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสร้างสังคมที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันมากขึ้นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดังนั้นสมาคมจึงตระหนักถึงความสําคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของแต่ละบุคคลสร้างความรู้ความเข้าใจขององค์กรและสร้างความตระหนักทางสังคมในการขจัดอคติต่อเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นําไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติตลอดจนการกระทําความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สมาคมฯ ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558 (2015) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลได้รับการคุ้มครองและปกป้องตามเพศของพวกเขา