นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2567 ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัด กทม. ว่าผู้รับบริการวัยรุ่นของโรงพยาบาลสังกัด กทม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2564 จำนวน 493 คน ปี 2565 จำนวน 463 คน ปี 2566 จำนวน 629 คน และปี 2567 จำนวน 258 คน ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ ร่วมกับ สำนักอนามัย องค์กรภาคประชาสังคม และโรงพยาบาลภาคีเครือข่ายในกรุงเทพฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมุ่งเน้นติดตามให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุดและคงอยู่ในระบบบริการอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่มีผลการตรวจ HIV เป็นลบ สำนักอนามัยและภาคประชาสังคมจะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูล ชักชวนผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบป้องกันและมาตรวจหาเชื้อ HIV สม่ำเสมอ เพื่อคงสถานะผลเลือดลบ รวมถึงพัฒนาการดูแลผู้ติดเชื้อรายบุคคล (Case Management) ในศูนย์บริการสาธารณสุข
กทม. แจ้งเตือนผู้ที่ติดเชื้อฯ ให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองของผู้ติดเชื้อฯ ขณะเดียวกันได้ดำเนินกิจกรรม Klong San Health Care Network Model เพื่อป้องกันปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง มีความรู้ ป้องกันตนเองจากโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตระหนักถึงการทราบสถานะการติดเชื้อฯ และสามารถเข้าถึงการตรวจเลือด เพื่อหาการติดเชื้อ HIV และระดับไวรัสได้ทุกโรงพยาบาล โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลตากสิน ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.28) สำนักงานเขตคลองสาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) สถานศึกษา ร้านขายยา และสถานประกอบการ ซึ่งได้จัดกิจกรรมที่ดำเนินการในโรงเรียนกิจกรรมรุก เพื่อลดเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ การสอนวิธีการสวมใส่และถอดถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี และการให้ความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งสอนวิธีการประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนส่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้วัยรุ่นและเยาวชนยืดอกพกและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคนทุกช่องทาง ซึ่งช่วยป้องกันทั้งการติดเชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม โดยสามารถรับถุงยางอนามัยได้ฟรีที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันได้พัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันแห่งความรัก BKK Pride Valentine Day 2024 : Ready 4 You เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ที่ถูกต้อง ประชาสัมพันธ์การใช้ถุงยางอนามัยและยาป้องกันก่อน-หลังการสัมผัสเชื้อ HIV (PrEP/PEP) รวมทั้งประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กทม. (BKK Pride Clinic) เพื่อให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในปี 2567 กทม.มีคลินิกดังกล่าว จำนวน 31 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัด กทม.11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 20 แห่ง
นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชนเข้าถึงการตรวจคัดกรอง HIV และซิฟิลิส โดยสนับสนุนชุดตรวจคัดกรอง HIV และซิฟิลิสแบบรู้ผลเร็วภายใน 20 นาที หากพบการติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาโดยเร็ว พร้อมเปิดให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรแก่กลุ่มวัยรุ่น โดยเปิดคลินิกวัยรุ่น โรงพยาบาลสังกัด สนพ. 5 แห่ง นอกจากจะให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ยังให้คำปรึกษาปัญหาของวัยรุ่น 7 ด้าน ประกอบด้วย ปัญหาความเครียดจากเพศภาวะ ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาความประพฤติ ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรง ปัญหาครอบครัวและปัญหาพฤติกรรมทางเพศ โดยให้บริการเชิงรุกส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความตระหนักให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนทั้งในและนอกสังกัด กทม.ทั้งนี้ กทม.ได้จัดคาราวานตรวจสุขภาพฟรี เพื่อประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมาย 1 ล้านคน ภายในเดือน มิ.ย.67 สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ https://shorturl.asia/XC9SG