5-6 ปีให้หลังมานี้ หากเปิดโทรทัศน์หรือท่องโซเชียลมีเดียจะพบว่าคอนเท้นต์ที่ก้าวกระโดดจากกระแสรองมาสู่กระแสหลักจนกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยของไทย คือคอนเท้นต์วาย (Y) ซึ่งยึดครองพื้นที่ในวงการบันเทิงไทยไปมากกว่าครึ่ง ทั้งยังส่งออกความนิยมไปต่างประเทศ ตั้งแต่อาเซียน เอเชีย จนถึงตลาดยุโรปและอเมริกา เรียกได้ว่า คอนเท้นต์วายไทย เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์สร้างชื่อ ทำให้ต้องยกมาเป็นกรณีศึกษาว่า อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์วายไทยที่สร้างกระแสความจิ้นไปทั่วโลกได้อย่างนี้
ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ซีรีส์ประเภท Boy’s Love หรือซีรีส์วาย ปลุกกระแสความคึกคักให้กับวงการบันเทิงไทยได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นผู้นำคอนเทนวายระดับโลก ซึ่งมีมูลค่าตลาดมหาศาล และนอกจากซีรีส์ วรรณกรรมวายของไทยก็ฮอตฮิตไม่ต่างกัน ทำสถิติเป็นประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด ด้วยเหตุนี้ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ (TSA) จึงร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม THACCA (Thailand Creative Culture Agency) และ OFOS (One Family One Soft Power) เปิดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “นักเขียนบทสู่นักเขียนวาย” ภายใต้ โครงการสร้างทักษะใหม่เพื่อพัฒนานักเขียนบทให้เป็นกำลังสำคัญของยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ “GO UP AND NEVER STOP EXPAND MULTI SKILLS” เชิญสองผู้คร่ำหวอดในแวดวงวาย เจติยา โลกิตสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บรรณาธิการบริหาร บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด ซึ่งมีสำนักพิมพ์ดีพ (Deep) ผลิตคอนเท้นต์วายเป็นหลัก และ กฤษดา วิทยาขจรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีออนคลาวด์ จำกัด ผู้ผลิตซีรีส์ชื่อดังอย่าง KinnPorsche The Series La Forte, 4 Minutes และภาพยนตร์แมนสรวง มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงวายอย่างครบรส ทั้งในมุมของนวนิยายและซีรีส์ เพื่อให้นักเขียนบทละครและผู้สนใจเข้าใจเทรนด์ซีรีส์วาย รวมถึง ยูริ (Yuri) แบบ Girl’s Love ก่อนนำไปต่อยอดพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค Y Economy ให้มากขึ้น
“ไทยแลนด์” เมืองหลวงของซีรีส์วาย
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือไทยเป็นผู้นำตลาดนิยายและซีรีส์วายมาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันนี้ แม้ว่าพอกระแสวายเริ่มรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์แล้ว หลายประเทศจะหันมาทําซีรีส์วายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แต่อันดับหนึ่งในด้านนี้ก็ยังคงเป็นคอนเท้นต์จากประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เหตุผลที่ทำให้เราครองตลาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานมาจากหลายปัจจัย สำหรับสายนิยาย คุณเจติยามองว่า “ซีรีส์วายไทยมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนในความเบา ๆ เสพง่าย ย่อยง่าย แตกต่างจากของต่างประเทศที่บางเรื่องจะหนักหน่วง ต้องคิดเยอะ เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์ไทยเป็นที่นิยมกว่าซีรีส์สัญชาติอื่น”
แต่ในอีกด้าน คุณกฤษดากลับเห็นว่า การบุกเบิกเริ่มสร้างเส้นทางสายวายมาก่อนพร้อมกับความชัดเจนในการนำเสนอ ทำให้วายไทยครองตลาดมาได้จนทุกวันนี้ “ก่อนจะมาเป็นผู้ผลิตคอนเท้นต์วาย ผมได้รู้จักซีรีส์วายในยุคแรก ๆ อย่าง Love Sick ตามมาด้วย คั่นกู เพราะเราคู่กัน และ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ผมว่าสิ่งที่ทำให้คอนเท้นต์วายไทยขึ้นมาเป็นที่ 1 ได้ เป็นเพราะเราเริ่มทํามาก่อน แล้วทําได้ถึง คือชัดเจนที่สุดในยุคนั้นว่าวายคืออะไร เพราะหากนับช่วงเวลา 5 ปีมานี้ที่ซีรีส์วายไทยครองตลาดอย่างแข็งแกร่ง KinnPorsche ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เราไม่ได้ใสหรือนำเสนอความน่ารักเหมือนเรื่องอื่น ดังนั้นความนิยมของวายไทยจึงไม่ได้มาจากสไตล์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเริ่มบุกเบิกปูทางมาก่อน และนอกจากทำก่อน อีกส่วนหนึ่งผมมองว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสนุกและเราเปิดรับทุกวัฒนธรรม เลยเชื่อมกับคนง่าย ทำให้ขยายตลาดไปในหลายประเทศได้ ประกอบกับฐานแฟน ๆ วายที่พร้อมจะซัพพอร์ตจึงทำให้เติบโตอย่างแข็งแรง”
นิยายประโลมโลกหรือซอฟต์พาวเวอร์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของซีรีส์วายหรือนิยายวายมักจะถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องราวแนวประโลมโลก และมักจะขายคู่จิ้น มากกว่าเน้นเนื้อหาสาระสะท้อนสังคม แต่ในความเป็นจริงถ้ามองอย่างเปิดใจ คุณเจติยายืนยันว่าคอนเท้นต์วายสะท้อนสังคมในแง่มุมของความหลากหลายทางเพศได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นสื่อหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้คนในสังคมเข้าใจประเด็นความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพราะไม่เพียงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้คนต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น คอนเท้นต์วายจำนวนไม่น้อยยังสอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่น ๆ ของไทยลงไปด้วย “เช่น ซีรีส์เรื่องวันดีวิทยาที่เล่าถึงมวยไทย และยังมีหลายเรื่องที่พูดถึงวัฒนธรรมอีสานในบ้านเรา ซึ่งสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ก็สามารถสอดแทรกเข้าไปในนิยายวายได้เช่นเดียวกับนวนิยายทั่วไป” ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงนิยายยกตัวอย่าง
เช่นเดียวกับคุณกฤษดาที่เล่าถึงการใส่วัฒนธรรมไทยลงไปในคอนเท้นต์วายของบีออนคลาวด์ว่า เคยทำแบบสุดทางมาแล้วในภาพยนตร์เรื่องแมนสรวง ซึ่งนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมอันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างชัดเจน และหากถามว่าซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้อย่างไร เขาว่า “สุดท้ายถ้าทําให้คนรู้จักประเทศไทยได้มากขึ้น ไม่ว่าจะในมุมไหนก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หมด และผมเชื่อว่าคนในแวดวงวายก็กำลังทำสิ่งนี้อยู่ คือการเผยแพร่ความเป็นไทย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ถ้าซีรีส์ของเราไประดับโลกได้ ก็แปลว่าจะมีคนรู้จักประเทศไทยแน่นอน”
ช่วงหลังเริ่มเฟ้อ หรือคอนเท้นต์วายจะเริ่มวาย
ถ้ามองจากภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ไทยในวันนี้ คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าวายครองเมือง เพราะทุกช่องทางล้วนแล้วแต่อัดแน่นด้วยคอนเท้นต์วาย จนหลายคนเริ่มรู้สึกว่า หรือจะถึงเวลาฟองสบู่ใกล้แตก ความวายคงใกล้ถึงทางตันเสียแล้ว ทว่าในมุมมองของสองผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้กลับไม่เห็นเช่นนั้น “ผมไม่เชื่อว่าใกล้จะถึงทางตัน เพราะในมุมของผม เราขายไอเดีย และตั้งแต่เริ่มเข้าสู่แวดวงซีรีส์วายเห็นมาตลอดว่าตลาดนี้มีการเติบโตที่สูงมาก ส่วนที่หลายคนมองว่าปริมาณคอนเท้นต์เริ่มเฟ้อและน่าจะเริ่มตัน ต้องบอกว่า ความต้องการขึ้นอยู่กับคุณภาพของงาน เพราะยิ่งมีผู้เล่นเยอะ คนดูก็มีทางเลือกเยอะ ดังนั้นถ้างานไหนไม่มีคุณภาพ เขาก็ไม่ดู” ประธานบีออนคลาวด์เผยมุมมอง ด้านสำนักพิมพ์สายวายอย่างดีพ ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “ในมุมของคนทําหนังสือก็คล้ายกัน พอแนวนี้เริ่มมา นักเขียนก็หันมาเขียนกันมากขึ้นจนคนอ่านบางส่วนอาจจะรู้สึกเบื่อ แต่ด้วยเพราะนิยายวายมีความคล้ายกับนิยายแฟนตาซี ค่อนข้างหลากหลายแนว คนอ่านวายแต่ละคนก็มีรสนิยมแตกต่างกันไป ฉะนั้นถ้านักเขียนยังจินตนาการต่อไปได้ การเขียนนิยายวายก็ยังไปได้อีกไกล”
เมื่อถามว่า แล้วคอนเท้นต์วายจะไปได้อีกไกลแค่ไหน ทั้งสองยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า นิยายวายหรือซีรีส์วายก็ไม่ต่างจากนิยายและซีรีส์ทั่วไป หากมีความสนุกเป็นพื้นฐาน มีพล็อตที่ดี น่าสนใจ ก็ยังคงไปได้อีกเรื่อย ๆ ไม่ต่างจากคอนเท้นต์ทั่วไปในตลาด
แซฟฟิก ยูริ อีกหนึ่งแนวที่กำลังมากแรง
จากสายวายแนว Boy’s Love ทุกวันนี้ในตลาดเดียวหรือใกล้เคียงกัน เกิดคอนเท้นต์แขนงใหม่ที่มาแรงคือ แซฟฟิก (Sapphic) หรือยูริ (Yuri) ซึ่งเติบโตมาจากฐานแฟนคลับสายวายรวมถึงคนที่ชื่นชอบเรื่องราวแนว Girl’s Love จนกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟพาวเวอร์ที่ทรงพลังของไทย ซึ่งทั้งสองผู้คร่ำหวอดในแวดวงวายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเกิดขึ้นของคอนเท้นต์แนวยูริเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ต้องจับตา และมีแนวโน้มว่าจะเติบโต
ไม่ต่างจากคอนเท้นต์วายไทย
“วันนี้เห็นได้ว่าแซฟฟิกหรือยูริบูมมาก โดยมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับซีรีส์วาย ที่เกิดจากนิยายแล้วกลายมาเป็นซีรีส์ ก่อนจะสร้างกระแสคู่จิ้น เพียงแต่ยูริอาจจะมีตลาดรองรับอยู่จํานวนหนึ่งแล้วจากฐานคนที่เสพคอนเท้นต์วาย ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังระบุไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือคอนเท้นต์ยูริจะเพิ่มกลุ่มแฟนคลับที่เป็น Girl’s Love เข้าไปด้วย ผมมองว่าหากอยากแข่งขันในตลาดยูริ ณ ตอนนี้ ต้องหาคอนเท้นต์ที่เฉียบคมมากขึ้น เพราะเริ่มมีการทำออกมาค่อนข้างเยอะแล้วเหมือนกัน” คุณกฤษดาอธิบาย โดยเขามองว่าคอนเท้นต์วายและยูริเป็นซับเซตในตลาดเดียวกัน ฉะนั้นแล้วเมื่อมีแนวใหม่เกิดขึ้น ผู้ผลิตเยอะขึ้น คนดูก็ย่อมมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตตลาดนี้อาจจะมีอีกหลายแนวคอนเท้นต์เกิดขึ้นตามมา จนกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ถูกแบ่งเป็นหลายเลเยอร์ให้คนดูเลือกชิมก็เป็นได้
หากสนใจอยากสร้างสรรค์คอนเท้นต์วาย แซฟฟิก หรือยูริ ทางด้านนิยาย คุณเจติยาแนะนำว่า การตีพิมพ์นวนิยายวายไม่แตกต่างจากนิยายทั่วไป หลักการคือต้องพล็อตดี ตัวละครดี ถ้านักเขียนสามารถสร้างสองสิ่งนี้ให้แข็งแรงได้ จะสามารถสร้างเรื่อง สร้างฉาก และสร้าง key message ที่ต้องการส่งต่อไปยังคนอ่านได้อย่างไหลลื่น “หลักการเขียนนิยายวาย ไม่ได้แตกต่างจากนิยายทั่วไป เพียงแต่เปิดรับเรื่อง LGBTQ+ ท่านใดที่สนใจอยากให้ลงมือเขียนไปเลย หากตั้งใจจริงเชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์วายได้แน่นอน”
ส่วนสายซีรีส์ คุณกฤษดาบอกว่าอันดับแรกต้องดูกลุ่มเป้าหมาย แล้วมองว่าแนวไหนที่จะตอบโจทย์คนดูแต่ต้องไม่ซ้ำกลุ่มเดิม “จริง ๆ ทุกเรื่องราวล้วนบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ ถ้าเรามองข้ามอัตลักษณ์ทั้งหมดแล้วมองไปที่แก่นของความรู้สึก ซีรีส์วายก็คือซีรีส์ปกติที่มีพล็อตดี ใคร ๆ ก็เขียนได้เช่นกัน” เขาว่า แต่เหนือสิ่งอื่นใด การจะเขียนนิยายหรือเขียนบทซีรีส์ให้ดี ต้องหาคาแรกเตอร์ของตัวเองให้เจอ
สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมดี ๆ ในการพัฒนาตนเอง สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ยังมีโครงการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักภาพสมาชิกนักเขียนบทละครโทรทัศน์รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกหลายโครงการ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง Facebook: สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์