องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) เปิดตัวโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน (Farm Champion Project) อย่างเป็นทางการ มุ่งเน้นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูง โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มอบลูกไก่สายพันธุ์โคราชกว่า
1,000 ตัว ให้แก่เกษตรกรรวม 6 จังหวัด เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยหันมาสนใจสวัสดิภาพของไก่ในฟาร์มภายใต้แนวคิด Good Life Standards หรือมาตรฐานการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง โดยในฟาร์มลักษณะนี้ ไก่จะมีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และรับรู้ได้ถึง “ความสุข” มากกว่า “ความทุกข์ทรมาน” ตลอดอายุขัย ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

ภายใต้โครงการฯ นี้ องค์กรฯ ได้ทำการคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 11 ราย ทั่วประเทศไทย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา  จังหวัดกาญจนบุรี  จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ เพื่อทดลองเลี้ยงไก่จำนวน 100 ตัวต่อรุ่นในแต่ละฟาร์ม โดยจะทำการเลี้ยงไก่ 2 รุ่น ในระยะเวลา 1 ปี ใช้สายพันธุ์์ “ไก่โคราช” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไก่โตช้าที่ถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ไก่โคราชนี้จะใช้เวลาเลี้ยงราว 3 – 4 เดือน โดยจะได้ผลผลิตน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อตัว ด้วยน้ำหนักที่ไม่มากเกินไปและอายุการเลี้ยงที่ยาวนานขึ้นทำให้ไก่โคราชไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากสายพันธุ์ที่ตัดแต่งจนมีร่างกายใหญ่โตเร็วผิดปกติ และต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพเหมือนกับไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรม

คุณแผ้ว ภิรมย์ ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า ระบบฟาร์มอุตสาหกรรมไก่เนื้อสร้างความทุกข์ทรมานให้กับไก่เนื้อจำนวนนับพันล้านตัวต่อปีในประเทศไทย ที่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและส่งผลกระทบทั้งในเชิงสุขภาพคน สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เราจะต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตสร้างความเข้าใจและใส่ใจต่อสวัสดิภาพสัตว์  ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคควรมีทางเลือกที่จะเข้าถึงเนื้อไก่ที่มาจากแหล่งสวัสดิภาพสูง และโครงการฟาร์มแชมเปี้ยนเป็นการนำเสนอทางออกที่จะยุติความทุกข์ทรมานของไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรม เป็นการบุกเบิกให้ประเทศไทยเข้าไปสู่ระบบการผลิตอาหารที่มีจริยธรรมและยั่งยืน นอกจากนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับการสนับสนุนในด้านความรู้และทักษะจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรยังมีส่วนร่วมในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของไก่ รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของไก่ที่จะเป็นตัวบ่งชี้สวัสดิภาพที่ดีขึ้นในฟาร์ม อีกทั้งยังร่วมเสนอแนวคิดและผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในท้องถิ่น เช่น การเพิ่มคอนเกาะ กระบะทราย หรือสวนสมุนไพรให้ไก่จิกกิน เพื่อให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติอย่างอิสระและสัมผัสได้ถึงความรู้สึกในเชิงบวก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทธวัช โมฬี อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะหัวหน้างานวิจัยของโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงไก่ในประเทศไทย การให้ลูกไก่โคราชแก่เกษตรกรไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

         ปัจจุบันไก่หลายหมื่นล้านตัวต้องทนทุกข์จากการเลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะไก่สายพันธุ์เร่งโตที่ถูกเพาะพันธุ์ให้มีเนื้อปริมาณมากในเวลาอันสั้น ทำให้ไก่ต้องทนทุกข์จากน้ำหนักตัวและสภาพแวดล้อมที่แออัด ไก่ที่เราบริโภคจึงมาจากระบบที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ ผู้เลี้ยง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แม้ไก่จะมีชีวิตสั้น แต่ก็มีความรู้สึกนึกคิด โครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน เพื่อลดความทุกข์ทรมานของสัตว์และสร้างสังคมที่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น และจะเป็นตัวอย่างนำร่องของการเลี้ยงไก่ สวัสดิภาพสูงทั่วประเทศไทยต่อไป

รายชื่อฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ ฟาร์มแชมเปี้ยน จำนวน 11 ราย ได้แก่

1. หัสดีฟาร์ม จ. นครราชสีมา

2. สยามฟาร์ม จ. นครราชสีมา

3. สุพัตราฟาร์ม จ. นครราชสีมา

4. ฟาร์มเป็นลาว จ. นครราชสีมา

5. ฟาร์มไร่คืนรัง จ. นครราชสีมา

6. บางวันอินดี้ฟาร์ม จ. ชัยภูมิ

7. พลูโตฟาร์ม จ. สุรินทร์

8. สว่างรุ่งเรืองฟาร์ม จ. สุรินทร์

9. ไพฑูรย์ออร์แกนิกฟาร์ม จ. ศรีสะเกษ

10. เทพศิริฟาร์ม จ. อุบลราชธานี

11. ฟาร์มบ้านไร่ต้นมะขาม จ. กาญจนบุรี

ผู้ที่สนใจลูกไก่โคราช ติดต่อ :ฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทร. 098-013-2440 (คุณหน่อย) – ติดต่อตามวันและเวลาราชการ https://www.facebook.com/koratchicken

ล่าสุด..